เมื่อบัว“รากลอย”
พอเข้าหน้าร้อนทีไร เจอคำถามมาโดยตลอดว่า บัวปลูกไปได้ซักพักนึง แรกๆ ก็ให้ดอกออกใบงามดี แต่ต่อมาพักใหญ่ทำไมใบเล็กลงๆไปเรื่อยๆ แล้วก็แตกใบน้อยๆออกมา ต่อมาก็น้ำเขียวตะไคร่มีเต็มทั้งที่ตักก็แล้วก็ยังมีตะใคร่ขึ้นเต็มอยู่ ขนาดของกระถางปลูก อ่างบัวที่ยกจุ่ม ก็เหมาะสมกับชนิดบัว
ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วต้องขอให้ผู้เลี้ยงลองเอามือ(ของตัวเอง)จุ่มลงไปดูในอ่างบัวว่า เจอเหง้า หรือ ตอของต้นบัวโผล่พ้นดินปลูกจนก้านใบ รากและยอดลอยเหนือดินหรือไม่ หากเจอกับอาการนี้ ภาษาง่ายๆที่ปางอุบล เราจะเรียกว่า บัว”รากลอย” เป็นหนึ่งในอาการของบัวที่เกิดจาก การปลูกบัวในภาชนะจำกัดที่เลี้ยงมานาน จนเจ้าของลืมไปแล้ว
“อาการ รากลอย” ที่ว่าจะเกิดเร็วช้า หลักๆ ก็จะเกี่ยวกับ ขนาดของภาชนะบรรจุดินปลูกบัว และ ชนิดของบัวที่เราปลูก(บัวฝรั่ง บัวผัน บัวสาย) และ พฤติกรรมของบัวต้นนั้นๆ ว่า เป็นพวกโตขยายหน่อเร็วแค่ไหน แต่ถ้าภาชนะใหญ่หน่อย ก็ใช้เวลานานกว่าจะเกิดอาการนี้ แต่พอเจอเข้าแบบนี้ทีไร ผู้ปลูกมักตกใจว่าบัวจะตาย และทำอะไรไม่ถูก ก็ต้องบอกว่า ใจเย็นๆ แล้ว แก้ไขตามขั้นตอนดังนี้
การจัดการกับต้นบัว
1. งัดเอาเหง้า หัว หน่อ ที่ยังมีสภาพดีอยู่ คือ ยังมีความแข็ง ไม่เน่า หรือ เหม็นเน่า ทั้งชุดขึ้นมาจากดินปลูกเท่าที่ยังมีเหลืออยู่
2.ดูว่าตรงไหนเป็นส่วนยอดที่แตกใหม่ หรือ ยอดของต้นเดิม แล้ว ปลิดออกจากเหง้าหลัก บัวบางประเภทอาจจะปลิดไม่ได้ก็จำเป็นต้องใช้มีดตัดออก โดยกะระยะการตัดออกให้เหลือแก่น ตอเหง้า ติดกับก้านใบ โคน ราก ประมาณ 1-2 นิ้ว แล้วล้างให้สะอาดให้หมดตะใคร่ที่มาเกาะกิน
3. ลอยในน้ำสะอาด (น้ำคลอง น้ำฝน น้ำประปานั่นแหล่ะค่ะ ใช้ได้เลย)เพื่อรอปลูกใหม่ต่อไป
การจัดการเรื่องดินปลูก(เอาแบบง่ายๆ)
1. ในภาชนะเดิม ก็เทดินเก่าที่หมดสภาพทิ้งไป หรือจะเอาไปผสมปุ๋ยหมักเพื่อเวียนไปใช้ปลูกไม้บกก็ได้
2. เอาปุ๋ยละลายช้าสูตรเสมอโรยให้กระจายในก้นกระถาง กะประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ
3. ทับหน้าด้วยดินเหนียวที่ความเหนียวหนืดประมาณ ดินน้ำมัน ที่เราปั้นเล่น
ถ้าทำได้ตามนี้เชื่อว่าในเวลาไม่เกิน 2-3อาทิตย์
บัวน้อยกลอยใจถึงไม่มีดอกก็ต้องมีใบสวยแตกขึ้นมา
ให้ใหม่ พอให้ผู้ปลูกได้ชื่นใจ
Advertisements